Home » ย้ำ “โรคแอนแทรกซ์” ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ขออย่าเป็นกังวล
Posted in

ย้ำ “โรคแอนแทรกซ์” ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ขออย่าเป็นกังวล

ย้ำ “โรคแอนแทรกซ์” ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ขออย่าเป็นกังวล

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่า “โรคแอนแทรกซ์” (Anthrax) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า Bacillus anthracis สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ

ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมทั้งร้อนและเย็น เชื้อยังสามารถก่อให้เกิดโรคได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี โดยเฉพาะในดินที่มีซากสัตว์ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลการติดต่อจากคนสู่คน ขอประชาชนอย่าเป็นกังวล

สำหรับสัตว์พาหะส่วนใหญ่ที่พบ คือ โค กระบือ แพะ แกะ โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการ ดังนี้ อาการไข้ ซึม ไม่กินอาหาร เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุและเสียชีวิต การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงไม่สุก การสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีสปอร์ของเชื้อ โดยเชื้อสามารถแพร่ได้ 3 ทาง คือ

  1. “การสัมผัส” จากการชำแหละสัตว์ที่ป่วยตายจากโรคแอนแทรกซ์ ผู้ป่วยจะติดเชื้อโดยสปอร์ของเชื้อเข้าสู่บาดแผลและรอยถลอก จะเริ่มมีอาการป่วยหลังสัมผัสโรคประมาณ 1-7 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับตัวโรคและคนที่ได้รับเชื้อ รอยแผลเริ่มจากเป็นตุ่มที่ผิวหนัง ตามมาด้วยตุ่มน้ำใส และแตกออกกลายเป็นแผลหลุมสีดำ คล้ายบุหรี่จี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะมีการลุกลามของเชื้อไปยังต่อมน้ำเหลือง และกระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้
  2. “การรับประทาน” หากรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยดิบหรือปรุงไม่สุก อาจจะติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีอาการไข้สูง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้
  3. “การหายใจ” ซึ่งพบได้น้อยกว่า คือ การหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่บริเวณที่สัตว์ป่วยหรือเสียชีวิต สามารถฝังตัวอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ หายใจลําบาก หน้าเขียวคล้ำ และเสียชีวิตจากอาการของระบบหายใจล้มเหลว

“สำหรับการป้องกันโรคแอนแทรกซ์ ขอแนะนำให้ใส่ถุงมือในการชำแหละหรือปรุงเนื้อสัตว์ และล้างมือให้สะอาดจะช่วยลดการปนเปื้อนได้ ส่วนอาหารควรปรุงให้สุกจะทำให้ทำลายเชื้อแบคทีเรีย และควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้และได้มาตรฐาน ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ หรือกรณีสัมผัสและไม่มีอาการป่วย แพทย์จะมีการให้ยาในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายอนุกูล ระบุ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า