5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ ในวัยรุ่นและวัยทำงาน
(2 ก.ค. 68) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตือนคนรุ่นใหม่ถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจ โดยโรคหัวใจไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในประชาชนทุกช่วงวัย
โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นที่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว โดยโรคหัวใจนั้นเกิดได้จากทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม อายุ และเพศ ซึ่งหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายย่อมเสื่อมถอยตามธรรมชาติ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในภาพรวมพบว่าเพศชายมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง
หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจ คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารประเภททอด อาหารมันจัด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ รวมถึงของหวานจำพวกเค้กและเบเกอรี่ หากรับประทานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดสูง และนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องระวัง เนื่องจากกลุ่มนี้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและอันตรายต่อการทำงานของหัวใจ ไม่ว่าจะโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง ซึ่งล้วนส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หากไม่ดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดได้
รวมถึงความเครียดสะสมจากการทำงาน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากความเครียดจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น และอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
ขณะเดียวกัน การพักผ่อนไม่เพียงพอและการขาดการออกกำลังกาย อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว รวมทั้ง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้สูบเอง หากอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง ก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้เช่นเดียวกัน
โรคหัวใจสามารถป้องกันได้ หากประชาชนมีความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองเกี่ยวกับโรคหัวใจ เพื่อค้นหาความผิดปกติในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงถือเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลหัวใจให้แข็งแรง